วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

หน่วยที่ ๙ พลเมืองดีตามประเพณีและวัฒนธรรมไทย


หน่วยที่ ๙  พลเมืองดีตามประเพณีและวัฒนธรรมไทย

ความหมายและความสำคัญของพลเมืองดี
ความหมาย
พลเมืองดี หมายถึง ประชาชนที่ประพฤติปฏิบัติตนตามระเบียบกฏเกณฑ์ของสังคม มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง และปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ไม่ละเมิดล่วงล้ำสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น
ความสำคัญ
พลเมืองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคมไทย เช่นเดียวกับสังคมอื่น ๆ ทุกสังคมย่อมต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงความมีร่างกายจิตใจดี คิดเป็น ทำเป็น ไขปัญหาได้มีประสิทธิภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า ความมั่นคงให้กับประเทศชาติ และการเป็นพลเมืองที่ดีนั้นย่อมต้องปฏิบัติตามบรรทัดฐานและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม มีคุณธรรมเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอีกด้วย เพื่อการพัฒนาสังคมยั่งยืน
วัตถุประสงค์ของการพัฒนาให้เป็นพลเมืองดี
วัตถุประสงค์ของการพัฒนาให้เป็นพลเมืองดี มีดังนี้
๑.     เพื่อให้รู้จักปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม
๒.    เพื่อปลูกฝังทักษะการดำเนินชีวิตชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
๓.    เพื่อปลูกฝังความมีระเบียบวินัย และเคารพกฎระเบียบของสังคม
๔.    เพื่อปลูกฝังให้มีทัศนคติและค่านิยมที่ดีต่อสังคม


ลักษณะของพลเมืองที่ดี
การเป็นพลเมืองที่ดีต้องปฏิบัติอย่างไรนั้น สังคมจะเป็นผู้กำหนดลักษณะที่พึงประสงค์ เพื่อที่จะได้พลเมืองที่ดีตามต้องการ ดังนั้นคุณสมบัติของสมาชิกในสังคม ก็จะต้องมีคุณสมบัติที่เป็นพื้นฐานและมีคุณสมบัติเฉพาะ ดังนี้
คุณสมบัติพื้นฐาน  คือ คุณสมบัติทั่วไปของการเป็นพลเมืองที่ดี เช่น ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ ประหยัด รับผิดชอบ มีเหตุผล โอบอ้อมอารี มีเมตตา เห็นประโยชน์ส่วนรวมมีความสำคัญเสมอ
คุณสมบัติเฉพาะ คือ คุณสมบัติเฉพาะอย่างที่สังคมต้องการให้บุคคลพึงปฏัติ เช่น ต้องการบุคคลที่มีคุณธรรมนำความรู้ ต้องการให้คนในสังคมไทยหันมาสนใจ เพื่อการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
ค่านิยมพื้นฐานการเป็นพลเมืองดีในสังคมไทย
ค่านิยมพื้นฐานการเป็นพลเมืองดีในสังคมไทย มี ๕ ประการ คือ
๑.     การพึ่งพาตนเอง
๒.    การขยันหมั่นเพียร
๓.    มีความรับผิดชอบ
๔.    ประหยัดและเก็บออม
๕.    มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย มีคุณธรรม รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
พระบรมราโชวาทคุณธรรมสี่ประการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชวาทในวันที่ ๕ เมษายน พุทธศักราช๒๕๒๕ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เกี่ยวกับคุณธรรมสี่ประการที่ประชาชนควรน้อมนำมาปฏิบัติ เพื่อให้ประเทศชาติเกิดความสงบสุข ความร่มเย็น และพัฒนาให้ก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง


คุณธรรมทั้งสี่ประการ ได้แก่
๑.     การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
๒.    การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกตนเองให้ประพฤติอยู่ในความสัจความจริงใจนั้น
๓.    การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
๔.    การรู้จักละเว้นความชั่ว ความทุจริต และรู้จักรักษาประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
ดังนั้น การเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมไทย ก็คือ การปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานและค่านิยมอันพึงประสงค์ของสังคม มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคมนั่นเอง
พลเมืองดีตามประเพณีและวัฒนธรรมไทย
พลเมืองดีย่อมเป็นที่ต้องการของสังคมทุกสังคม สถาบันที่สำคัญของสังคมมีบทบาทช่วยให้พลเมืองปฏิบัติตามบรรทัดฐานของสังคม รู้บทบาท และสถานะของตนเอง ดังนั้น พลเมืองดีจึงต้องได้รับการปลูกฝังสิ่งที่ดีงาม ดังนี้
สถาบันทางสังคมทุกสถาบัน โดยเฉพาะสังคมแรก คือ ครอบครัว ต้องอบรมให้คนไทยมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโส มีความเสียสละ ซื่อสัตย์สุจริต ตรงต่อเวลา เป็นต้น
ต้องปฏิบัติตนตามกน้าที่ในฐานะเป็นพลเมืองของไทย ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
สอนให้เยาวชนรู้จักและปฏิบัติตนตามสถานภาพและบทบาทของตนเองโดยมีความรับผิดชอบ รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น เคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย


การปลูกฝังสิ่งที่ดีงาม
พลเมืองดีต้องมีเกณฑ์ในการปฏิบัติ สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณานั้น ดูจากภาระหน้าที่ของพลเมืองซึ่งมีผลตอบสนองต่อการปลูกฝังความเป็นพลเมืองดีดังนี้
ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ
คำว่า “ภาระ” หมายถึง หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ
คำว่า ”หน้าที่” หมายถึง กิจที่ต้องทำตามสถานภาพที่ได้รับ
ภาระหน้าที่ หมายถึง สิ่งที่ต้องปฏิบัติตามสถานภาพของบุคคลที่มีอยู่ ซึ่งภาระหน้าที่ของบุคคลในสังคมจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับกฏเกณฑ์ในการพิจารณาของสังคมนั้นเป็นหลัก ซึ่งจะถูกกำหนดโดยปัจจัย ๔ ประการ ดังนี้
๑.   สถานภาพในขณะนั้น คือ ตำแหน่งทางสังคมในขณะนั้น เช่น ครู แพทย์ เป็นต้น
๒.  บรรทัดฐานทางสังคม คือ ระเบียบแบบแผนแห่งพฤติกรรม เกิดจากการปฏิบัติจะละเมิดมิได้
๓.  จารีตประเพณี วัฒนธรรมและค่านิยม เป็นสิ่งที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา
๔.  หลักพุทธศาสนา เป็นหลักคำสอน ได้กำหนดแนวคิด แบ่งภาระหน้าที่ตามสถานภาพในทิศ ๖ ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติต่อกันตามบทบาทที่ได้รับ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
ทิศเบื้องหน้า-บิดา มารดา
ทิศเบื้องขวา-ครู อาจารย์
ทิศเบื้องซ้าย-มิตร สหาย
ทิศเบื้องบน-พระสงฆ์
ทิศเบื้องหลัง-ภรรยา สามี
ทิศเบื้องล่าง-คนรับใช้ ผู้ใต้บังคับบัญชา
ภาระหน้าที่นั้น หากบุคคลสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ย่อมทำให้ตนเอง ครอบครัวและสังคม มีความสงสุข ในทางตรงกันข้าม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องย่อมก่อให้เกิดปัญหาความเสียหายต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
การปลูกฝังความเป็นพลเมืองดีตามประเพณีไทย
การเป็นคนดีของสังคมนั้นวัดกันได้ที่จิตใจ ถ้าจิตใจมีคุณธรรม ยึดมั่นในคุณงามความดีก็จะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่มองเห็นได้ ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และทุกสถาบันทางสังคมต่างก็มีจุดมุ่งหมายที่จะอบรมสั่งสอนให้สมาชิกทุกคนเป็นคนดีของสังคมโดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เป็นสถาบันหลักและสถาบันแรกนารอบรมขัดเลาสมาชิก มีวัฒนธรรมไทย ดังนี้
๑.     เคารพผู้อาวุโส
๒.    กตัญญูกตเวที
๓.    รู้จักการให้อภัย
๔.    มีจิตเป็นอกุศล
๕.    รู้จักภาวะและฐานะของตน ปฏิบัติตัวให้เหมาะสม
๖.     ผู้ชายต้องช่วยเหลือและให้เกียรติผู้หญิงซึ่งเป็นเพศที่อ่อนแอกว่า
๗.    ผู้หญิงต้องประพฤติตนสมกุลสตรี
๘.    ผู้ชายต้องประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นผู้นำที่ดี
๙.    ไม่ทำอะไรตามใจตนเอง ต้องมีเหตุผลและสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้
สิ่งที่ครอบครัวได้อบรมสั่งสอนลูกหลานจนกลายเป็นประเพณีนั้นส่งผลให้สมาชิกของสังคมไทยมีจริยธรรมที่งดงาม เป็นพลเมืองดีตามวัฒนธรรมประเพณีไทย



การส่งเสริมให้บุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี
การส่งเสริมให้บุคคลในสังคมหรือในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะลำพังตนเองจะประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีสำหรับคนบางคนเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่หากทำได้ย่อมส่งผลดีต่อการอยู่ร่วมกัน และในทางปฏิบัติ หากจะส่งเสริมอย่างจริงจัง ตนเองจะต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่าง จึงจะสามารถชักชวนหรือชักนำให้บุคคลอื่นปฏิบัติตนตามที่สังคมต้องการได้ แนวทางที่สามารถปิบัติได้ขอกล่าวเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้
๑.  การส่งเสริมการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีในระดับครอบครัว การส่งเสริมระดับนี้จะเป็นระดับที่ทำได้ง่ายที่สุดเพราะสมาชิกในครอบครัวสนิทสนมมักคุ้นกันเป็นอย่างดี ซึ่งปฏิบัติได้ดังนี้
๑.๑ พ่อแม่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
๑.๒ พ่อแม่ให้ความเคารพในหลักเหตุผล ให้ความยุติธรรมแก่ลูก
๒.  การส่งเสริมการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีในระดับโรงเรียน ในโรงเรียนครูจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี โดยสามารถปฏิบัติได้ดังนี้
๒.๑ ส่งเสริมให้เรียนรู้วิถีชีวิตประชาธิปไตยโดยการปฏิบัติ การเคารพเสียงข้างมากและให้ความสำคัญกับผู้มีความคิดเห็นแตกต่าง
๒.๒ ส่งเสริมให้นักเรียนได้รับผิดชอบและปฏิบัติกิจกรรมทางสังคม
๓.  การส่งเสริมการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีในระดับชุมชนและท้องถิ่น เช่น
๓.๑ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ของชุมชนและท้องถิ่น
๓.๒ให้ความช่วยเหลือ เสียสละ ทำตนให้เป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดความรัก สามัคคีในชุมชนและท้องถิ่น





บรรณานุกรม



มณีรัตน์  ปิ่นวิเศษ. พลเมืองดีตามประเพณีและวัฒนธรรมไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:http://tsunna.blogspot.com/2010/11/blog-post.html .(วันที่ค้นข้อมูล:14 พฤศจิกายน  2553 )